8 กุมภาพันธ์ 2551

จังหวัดพัทลุง

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดพัทลุง

พื้นที่ตั้งของจังหวัดพัทลุงและเชื้อสายของคนพัทลุง มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏหลักฐานการค้นพบขวานหินขัด ในท้องที่ทั่วไปหลายอำเภอ ในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 – 14) บริเวณเมืองพัทลุงเป็นแหล่งชุมชนที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดีย ในด้านพุทธศาสนาลัทธิมหายาน มีหลักฐานค้นพบ เช่น พระพิมพ์ดินดิบจำนวนมาก เป็นรูปพระโพธิสัตว์ รูปเทวดา โดยค้นพบบริเวณถ้ำวัดคูหาสวรรค์และถ้ำเขาทะลุ
ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองพัทลุงได้ตั้งขึ้นอย่างมั่นคง ภายใต้การปกครองของ กรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี ซึ่งนับว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งของพระราชอาณาจักรทางใต้ ในสมัยนั้น เมืองพัทลุงมักจะประสบกับปัญหาการถูกโจมตีจากกลุ่มโจรสลัดมาเลย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโจรสลัดอาแจะอารู และอุยงคตนะได้โจมตีเผาทำลายสร้างความเสียหายแก่เมืองพัทลุงถึงสองครั้ง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอยู่เสมอ และเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวเมืองพัทลุงเป็นนักต่อสู้ที่เข้มแข็ง
ในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอีกหลายครั้ง และ ได้ยกขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นโท ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในช่วงนี้เมืองพัทลุงมีผู้นำที่มีความสำคัญในการสร้างความเจริญ และความมั่นคงให้กับบ้านเมืองหลายท่าน ได้แก่ พระยาพัทลุง (ขุนคางเหลือง) พระยาวิชิตเสนา (ทองขาว) พระยาอภัยบริรักษ์ (จุ้ย จันทโรจนวงศ์) และมีการช่วยป้องกันเอกราชของชาติหลายครั้ง เช่น สมัยสงครามเก้าทัพ (พ.ศ. 2328 – 2329) พระมหาช่วย วัดป่าลิไลยก์ ได้นำชาวพัทลุงต่อสู้ป้องกันการรุกรานของพม่า จนได้รับความดีความชอบโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาช่วยทุกขราษฎร์ ช่วยราชการเมืองพัทลุง
นอกจากการทำสงครามกับพม่าแล้ว ชาวพัทลุงยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติในหัวเมืองภาคใต้ เพราะมีเรื่องที่ปรากฏอยู่เสมอว่า ทางเมืองหลวงได้มีคำสั่งให้เกณฑ์ชาวพัทลุงพร้อมด้วยเสบียงอาหาร ไปทำสงครามปราบปรามกบฏในหัวเมืองมลายู เช่น กบฏไทรบุรี (พ.ศ.2372 และ พ.ศ.2381) ซึ่งบทบาทดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองพัทลุง ทางด้านการเมืองการปกครอง และแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำในอดีตเป็นอย่างดี
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ. 2437 และได้ประกาศจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2439 ประกอบด้วยหัวเมืองต่างๆ คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และหัวเมืองทั้ง 7 ที่เป็นเมืองปัตตานีเดิม สำหรับเมืองพัทลุงแบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง อำเภออุดร อำเภอทักษิณ ขณะนั้นตัวเมืองตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองพัทลุงมาอยู่ที่บ้านวังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์ในปัจจุบัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้เส้นทางรถไฟ มีความสะดวกในการติดต่อกับเมืองต่าง ๆ
จากอดีตถึงปัจจุบันเมืองพัทลุงได้มีการย้ายเมือง 8 ครั้ง สถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุง ได้แก่
1. บ้านโคกเมืองแก้ว ปัจจุบันอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
2. บ้านควนแร่ ปัจจุบันอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
3. เขาชัยบุรี (เขาเมือง) ปัจจุบันอยู่ในเขต 3 ตำบล คือ ตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง ตำบลพนมวังก์ และตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
4. บ้านท่าเสม็ด ปัจจุบันเป็นตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
5. บ้านเมืองพระรถ ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
6. บ้านควนมะพร้าว ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลพญาขัน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
7. บ้านม่วง ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลพญาขัน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
8. บ้านโคกสูง ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
1.1 ชื่อเมืองพัทลุง
ในสมัยก่อนชื่อเมืองพัทลุง ไม่ได้เขียนอย่างที่ปรากฏให้เห็น จากหลักฐานพบว่าบนเหรียญอีแปะพัทลุง พ.ศ 2426 เขียนว่า “พัททะลุง” และ “พัตะลุง” ในเอกสารของไทย ใช้ต่างกันมากมาย ได้แก่ พัตะลุง พัดทลุง พัทธลุง พัฒลุง พัทลุง ในเอกสารเบอร์นีของอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 3 เขียนว่า Bondelun และ Merdelong ของนายลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนว่า Bourdeloung
ความหมายของชื่อเมืองหมายถึง เมืองช้างหรือเมืองเกี่ยวเนื่องด้วยช้าง ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ คำว่า “พัด พัท- พัทธ” ยังไม่อาจทราบได้ว่าคำเดิมเขียนว่าอย่างไร คำไหน ทราบเพียงแต่ว่าใช้เป็นคำขึ้นต้น ส่วนคำพื้นเมืองที่เรียกว่า “ตะลุง” แปลว่า เสาล่ามช้าง หรือไม้หลักผูกช้าง ชื่อบ้านและนามของเมืองพัทลุงที่เกี่ยวกับช้างมีมาก หรือจะเรียกว่าเป็น “เมืองช้าง” ก็ได้ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาในแถบตำบลชะรัดซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัด มีช้างป่าชุกชุม และในตำนานนางเลือดขาว ตำนานเมืองพัทลุงกล่าวว่า ตาสามโมยายเพชรเป็นหมอสดำ หมอเฒ่า นายกองช้าง เลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรุงทองทุกปี ต่อมาพระกุมารกับ นางเลือดขาวก็ได้รับมรดกเป็นนายกองเลี้ยงช้างส่งส่วย ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านบางส่วนยังคงนับถือ “ตาหมอช้าง”
1.2 สภาพทางภูมิศาสตร์
จังหวัดพัทลุงอยู่ทางฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ระหว่างละติจูดที่ 7 องศา 6 ลิบดาเหนือ ถึง 7 องศา 53 ลิบดาเหนือ และลองติจูดที่ 99 องศา 44 ลิบดาตะวันอก ถึง 100 องศา 26 ลิบดาตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามเส้นทางรถยนต์สายเอเซีย (ทางหลวงหมายเลข 41) เป็นระยะทางประมาณ 858 กิโลเมตร และตามเส้นทางรถไฟระยะทางประมาณ 846 กิโลเมตร
จังหวัดพัทลุง มีความยาวของจังหวัดจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ประมาณ 78 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,424.473 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,140,296 ไร่ (พื้นดิน 1,919,446 ไร่ พื้นน้ำ 220,850 ไร่) โดยมีอาณาเขตดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ จรดอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ จรดอำเภอควนเนียง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
ทิศตะวันออก จรดทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นน่านน้ำติดต่อกับอำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันตก จรดเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นแนวติดต่อกับอำเภอห้วยยอด อำเภอเมือง อำเภอนาโยง อำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
1.3 สภาพภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงและที่ราบทางด้านตะวันตก อันประกอบด้วยเทือกเขาบรรทัด มีระดับสูงจากน้ำทะเลปานกลางประมาณ 50 – 1,000 เมตร ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้สวนยางพารา ไม้ผลและไม้ยืนต้น ถัดลงมาทางด้านตะวันออก เป็นที่ราบสลับที่ดอนมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ย 0 – 15 เมตร บริเวณนี้ส่วนใหญ่ปลูกข้าว ยางพารา มะพร้าว พืชผักและพืชไร่ต่างๆ โดยอัตราความลาดชัน 1:1,000 จากทิศตะวันตกมาสู่ทิศตะวันออกของจังหวัด
1.4 สภาพภูมิอากาศ
จังหวัดพัทลุงมี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,922.3 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตกเฉลี่ย 157 วัน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 36.8 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.2 องศาเซลเซียส ในเดือนพฤศจิกายน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 - 28 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ระหว่าง 57 – 83 % หรือโดยเฉลี่ย 78.7 % ความเร็วลมประมาณ 1- 2 เมตรต่อวินาที ปริมาณการระเหยของน้ำ ประมาณ 3.3 - 5.5 มิลลิเมตรต่อวัน
1.5 ด้านการปกครอง
จังหวัดพัทลุงแบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 65 ตำบล (อยู่ในเขต เทศบาล 1 ตำบล) 616 หมู่บ้าน 1 เทศบาลและ 8 สุขาภิบาล 63 องค์การบริหารส่วนตำบล และ 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด
ในด้านการปกครองระดับอำเภอและกิ่งอำเภอ แบ่งออกได้ดังนี้
1. อำเภอเมือง 2. อำเภอควนขนุน
3. อำเภอเขาชัยสน 4. อำเภอปากพะยูน
5. อำเภอตะโหมด 6. อำเภอกงหรา
7. อำเภอบางแก้ว 8. อำเภอป่าบอน
9. อำเภอศรีบรรพต 10. อำเภอป่าพะยอม
11. กิ่งอำเภอศรีนครินทร์
1.6 ประชากร
จำนวนประชากร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2544 มีจำนวน 502,709 คน เป็นชาย 247,723 คน หญิง 245,986 คน จำนวนบ้าน 120,903 หลัง 125,456 ครอบครัว ขนาดครอบครัว เฉลี่ย 4 คนต่อครอบครัว และอัตราความหนาแน่นของจำนวนประชากรต่อพื้นที่ ประมาณ 146.8 คนต่อตารางกิโลเมตร โดยมีรายเฉลี่ยดังนี้
ตารางที่ 2 แสดงจำนวนอำเภอและกิ่งอำเภอพร้อมจำนวนประชากร

ลำดับที่ อำเภอ จำนวน
ตำบล จำนวน
หมู่บ้าน จำนวนพื้นที่
( ตร.กม.) จำนวนประชากร(คน)
1 เมือง 14 139 443.202 125,627
2 ควนขนุน 12 116 549.364 83,686
3 เขาชัยสน 5 53 265.665 44,621
4 ปากพะยูน 7 60 433.274 50,452
5 กงหรา 5 41 255.856 33,144
6 ตะโหมด 3 32 264.250 26,376
7 ศรีบรรพต 3 29 218.504 16,108
8 ป่าบอน 5 45 380.048 41,955
9 ป่าพะยอม 4 34 261.000 31,428
10 บางแก้ว 3 28 113.450 24,973
11 กิ่ง อ.ศรีนครินทร์ 3 39 209.850 24,339
รวม 65 616 3,424.473 502,907

หมายเหตุ ในเขตเทศบาลปัจจุบัน (พ.ศ. 2545) มี 7,111 ครอบครัว 11,199 หลัง
ประชากร 42,719 คน ชาย 20,664 คน หญิง 22,055 คน
ที่มา : สำนักงานสถิติจังหวัดพัทลุง
1.7 ทรัพยากรธรรมชาติ
1.7.1 ทรัพยากรดิน
ดินในจังหวัดพัทลุงมี 62 ชุดดิน 13 ชุดดินคล้าย 31 หน่วยดินสัมพันธ์ และ 2 หน่วยดินเบ็ดเตล็ด รวมทั้งสิ้น 108 หน่วย ที่ดินส่วนใหญ่เหมาะ สำหรับปลูกยางพารา ข้าว พืชผักและผลไม้
1.7.2 ทรัพยากรน้ำ
1) น้ำฝนมีปริมาณโดยเฉลี่ย 1,922.3 มม. ต่อปี
2) น้ำท่า มีปริมาณ 2,509.6 ล้านลบ.ม.ต่อปี และมีระบบชลประทาน ฤดูฝนมากที่สุดในภาคใต้
3) น้ำใต้ดิน มี 3 ประเภท คือ
(1) แหล่งน้ำใต้ดินหินตะกอน ให้น้ำได้ในระหว่าง 1 – 30 ลบ.ม. ต่อ ซม.
(2) แหล่งน้ำใต้ดินที่พบตามรอยต่อของชั้นหินเนื้อละเอียด มีอัตราการให้น้ำ 0 -50 ลบ.ม. ต่อ ซม.
(3) แหล่งน้ำที่พบเฉพาะแห่ง มีอัตราการให้น้ำ 5 - 20 ลบ.ม.ต่อ ซม.
1.7.3 ทรัพยากรป่าไม้
จากข้อมูลกลางสำนักงานสารนิเทศ กรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2544 พบว่าจังหวัดพัทลุงมีป่าไม้เหลืออยู่จริง 292,894 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.68 ของเนื้อที่ทั้งจังหวัด แต่ในปี พ.ศ. 2545 พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแล้วถือครอง ประมาณ 326 ไร่ คงมีเนื้อที่ป่าอยู่ 292,565 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.66 ของเนื้อที่ทั้งจังหวัด จากพื้นที่ป่าที่ได้ประกาศไว้ทั้งสิ้น ป่าสงวนแห่งชาติ 31 ป่า เนื้อที่รวมประมาณ 756,496.25ไร่ (ประมาณร้อยละ 35.34 ของเนื้อที่ทั้งจังหวัด)
1.7.4. ทรัพยากรแร่
ในปี พ.ศ. 2544 จังหวัดพัทลุงมีเหมืองแร่ที่มีสัมปทานและปิดทำการแล้ว 8 แห่ง คนงาน 35 คน แร่ธาตุที่สำคัญคือหินปูน ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและมีรายได้เฉพาะจากค่าภาคหลวงแร่ 43,428 บาท ลดลงจากปี พ.ศ. 2543 จำนวน 230,139 บาท
1.8 สาธารณูปโภค สาธารณูปการ
1. 8.1 การคมนาคมขนส่ง
1) การขนส่งทางบก
ทางรถยนต์ มีถนนตัดผ่านเกือบกึ่งกลางจากตัวจังหวัดจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ (ถนนเอเชีย) และทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก (ถนนเพชรเกษม) มีทางหลวงจังหวัดเชื่อม ถึง 21 สายทาง 25 ตอนควบคุม ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 440.891 กิโลเมตร มีรถยนต์โดยสารประจำทางสามารถติดต่อได้ทั่วถึงกันทุกอำเภอ / กิ่งอำเภอ การเดินทางระหว่างหมู่บ้านมีเส้นทาง รพช. โยธาธิการท้องถิ่น และเส้นทางของส่วนราชการอื่นๆ ถนนจะเป็นถนนราดยาง และเส้นทางส่วนใหญ่ มีน้ำท่วมในฤดูฝน
ทางรถไฟ มีเส้นทางรถไฟสายใต้ผ่านจังหวัดพัทลุง ตั้งแต่อำเภอควนขนุน อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าบอน และอำเภอปากพะยูน เป็นระยะทางประมาณ 78 กิโลเมตร มีรถไฟขนส่งผู้โดยสาร และรถขนส่งสินค้าผ่านทุกวันๆ ละ 22 ขบวน ซึ่งมีทั้งรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา ทำให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อจังหวัดข้างเคียงได้สะดวก
2) การขนส่งทางอากาศ
จังหวัดพัทลุงไม่มีสนามบินพาณิชย์ การเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ ทางอากาศจะใช้ สนามบินพาณิชย์ของจังหวัดตรัง ซึ่งมีระยะการเดินทางประมาณ 62 กิโลเมตร และสนามบินพาณิชย์หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีระยะการเดินทางประมาณ 109 กิโลเมตร
3) การขนส่งทางน้ำ
จังหวัดพัทลุงไม่มีอาณาเขตติดต่อทะเลหลวง คงมีแต่ส่วนที่ติดกับทะเลสาบสงขลา ดังนั้นการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ คงมีเพียงการเดินทางสายหลักสายเดียว คือ ระหว่างจังหวัดพัทลุงกับอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีท่าเทียบเรือ 3 ท่า คือ ท่าเทียบเรือลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง ท่าเทียบเรือทะเลน้อย อำเภอควนขนุน และท่าเทียบเรือปากพะยูน อำเภอปากพะยูน
1.8.2 การโทรคมนาคม
การติดต่อสื่อสารโดยการใช้บริการไปรษณีย์โทรเลข มีอยู่ทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ สำหรับการให้บริการโทรศัพท์ในจังหวัดพัทลุง ขณะนี้คลอบคลุมทุกอำเภอและทุกตำบล มีโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทระดับตำบล 340 เลขหมาย และระดับหมู่บ้าน 90 หมู่บ้าน 180 เลขหมาย นอกจากนี้ ยังมีโทรศัพท์สาธารณะทางไกลริมทางหลวงแผ่นดิน จำนวน 21 เลขหมาย

ตารางที่ 3 แสดงบริการโทรศัพท์ในจังหวัดพัทลุงปี พ.ศ.2545

จำนวนเลขหมาย ราชการ บ้าน ธุรกิจ ทศท. สาธารณะ รวมเปิดใช้บริการ
19,048 752 11,952 1,252 121 509 14,667

ที่มา : องค์การโทรศัพท์จังหวัดพัทลุง เขตโทรศัพท์ภูมิภาคที่ 8 ปี 2545
1.8.3 ไฟฟ้า
ระบบไฟฟ้าอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีไฟฟ้าใช้แล้ว 10 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 65 ตำบล 616 หมู่บ้าน ซึ่งทำให้จังหวัดพัทลุง มีไฟฟ้าใช้ทุกหมู่บ้านโดยมีสำนักงานไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 11 แห่ง ครอบคลุมทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ทั้งสิ้น 185,873,932 หน่วย
1.8.4 ประปาแหล่งน้ำกินน้ำใช้ในการเกษตร
การประปาส่วนภูมิภาคในจังหวัดพัทลุงมี 3 แห่ง คือ การประปาพัทลุงอยู่ที่อำเภอเมืองพัทลุง มีกำลังผลิตเต็มที่ 7,680 ลบ.ม./ วัน มีผู้ใช้น้ำทั้งสิ้น 8,400 ราย การประปาพนางตุง มีกำลังผลิต 720 ลบ.ม. / วัน ใช้น้ำทั้งวัน 170 ราย และการประปาเขาชัยสน อยู่ที่สุขาภิบาลเขาชัยสนจ่ายน้ำครอบคลุมพื้นที่สุขาภิบาลท่ามะเดื่อ อ. บางแก้ว และมีระบบประปาหมู่บ้านทั้งจังหวัด จำนวน 487 แห่ง บ่อบาดาล 2,816 บ่อ บ่อน้ำตื้น 36 ,224 บ่อ สระน้ำ 1,835 แห่ง ฝายน้ำล้น 540 แห่ง
1.9 สภาพทางเศรษฐกิจ
โครงสร้างการผลิตของจังหวัดพัทลุงยังคงพึ่งพาสาขาเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 83.4 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพื้นที่ทำการเกษตร 1,394,235 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 65.14 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดพัทลุง ในปี พ.ศ. 2544 พบว่า ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 30,697 บาท / ปี เป็นอันดับ 50 ของประเทศและต่ำสุดของภาคใต้ โดยทั้งจังหวัดมีผลิตภัณฑ์มวลรวม 15,348.442 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสาขาการเกษตรมากที่สุดถึงร้อยละ 32.77 คิดเป็นมูลค่า 5,029.049 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาค้าส่งและปลีก ร้อยละ 20.64 คิดเป็นมูลค่า 3,141.284 ล้านบาท และสาขาการบริการร้อยละ 12.95 คิดเป็นมูลค่า 1,988.136 ล้านบาท
1.9.1 ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดพัทลุงปี 2541 – 2544 และแนวโน้มปี 2545
ในปี พ.ศ.2541 - 2544 ภาวะเศรษฐกิจ โดยรวมของจังหวัดพัทลุงอยู่ในสภาวะที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจการค้า การลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันการผลิตพืชผลหลักคือยางพารา ผลผลิตลดลงจากปีก่อนๆ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งในช่วงต้นปี
อย่างไรก็ตามทางด้านการผลิตข้าวนาปีและนาปรังในช่วง 4 ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดี และระดับราคาอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปีก่อนๆ ประมาณร้อยละ 45 นอกจากนี้การผลิตพืชผักขยายตัวค่อนข้างมากเนื่องจากวิกฤติทางเศรษฐกิจทำให้มีการเลิกจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้แรงงานส่วนหนึ่งกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมอีกครั้งหนึ่ง
1.10 แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
จังหวัดพัทลุงมีสถานที่ท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 33 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติ 22 แห่ง รองลงมาได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวประเภทประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุ โบราณสถาน และศาสนา 9 แห่ง งานประเพณี และวัฒนธรรม 4 งาน ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านอีก 2 แห่ง การกระจายตัวของสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ รวมตัวอยู่ในกลุ่มอำเภอเมืองพัทลุง 14 แห่ง รองลงมา ได้แก่ กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ 5 แห่ง









ตารางที่ 4 แสดงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง

อำเภอ ประเภท
ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม
เมืองพัทลุง - เขาอกทะลุ
- หาดแสนสุขลำปำ
- ถ้ำมาลัย - วัดคูหาสวรรค์
- วัดวัง
- วังเจ้าเมืองพัทลุง
- วัดป่าลิไลยก์
- พระพุทธนิโรคัน
ตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
- อนุสาวรีย์พระยา
ทุกขราษฎร์ (ช่วย)
- เมืองพระรถ
- วัดป่าขอม
- วัดยางงาม - หมู่บ้านหัตกรรม
- ประเพณีแข่งโพน
- ประเพณีชักพระ
- การละเล่นซัดต้ม
- งานวันอนุรักษ์
มรดกไทยและงาน
มหกรรมชิงแชมป์
หนังตะลุงภาคใต้
- งานมหกรรมชิงแชมป์มโนราห์ภาคใต้
ควนขนุน - เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ทะเลน้อย - -
เขาชัยสน - หาดจงเก
- แหลมจองถนน
- บ่อน้ำร้อนธารน้ำเย็น - -
ปากพะยูน - เกาะรังนก (เกาะสี่ –
เกาะห้า) - -
กงหรา - น้ำตกบ้านไร่เหนือ
- น้ำตกไพรวัลย์
- น้ำตกบ้านคลองหวะ
หลัง - -



ตารางที่ 4 แสดงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง (ต่อ)

อำเภอ ประเภท
ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม
ตะโหมด - น้ำตกหม่อมจุ้ย - -
ศรีบรรพต - อุทยานแห่งชาติเขาปู่
เขาย่า
- น้ำตกเหรียญทอ
- จุดชมวิวผาผึ้ง
- ทางเดินชมธรรมชาติ - -
บางแก้ว - ธารน้ำตกหูแร่ - - หมู่บ้านหัตถกรรม
รูปหนัง
ศรีนครินทร์ - น้ำตกบ้านโตน
- น้ำตกเขาคราม
- ถ้ำสุมโน
- ถ้ำพุทธโคดม
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
เขาบรรทัด - -

ที่มา : สำนักงานการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง มิถุนายน 2545

1.11 สภาพทางสังคม
1.11.1 การศึกษา
1) การศึกษาในระบบโรงเรียน
ในปีการศึกษา 2545 มีจำนวนครู / อาจารย์ 6,176 คน นักเรียน / นักศึกษา 108,822 คน
(1) การศึกษาในระดับอนุบาลมีจำนวน 10 โรงเรียน (เอกชน 9 โรงเรียน และสปช.1โรง)
(2) การศึกษาภาคบังคับ ได้แก่ การศึกษาระดับประถมศึกษา มีจำนวน 266 โรงเรียน (สปช.260 โรง เทศบาล 3 โรง โรงเรียน ตชด. 3 โรง) ในปีการศึกษา 2545 เด็กที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 8,311 คน เข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 7,903 คน คิดเป็นร้อยละ 94.97
(3) การศึกษาระดับมัธยมศึกษา มีจำนวน 29 โรงเรียน โรงเรียนเอกชน 8 โรงเรียน และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม 8 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2545 เด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 7,175 คน เข้าเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีพจำนวน 6,521 คน คิดเป็นร้อยละ 90.88
(4) การศึกษาระดับอาชีวะศึกษา มีสถาบันที่เปิดสอน 7 แห่ง เป็นของรัฐบาล 5 แห่ง เปิดสอนระดับ ปวช. ปวท. และ ปวส. นอกจากนี้ยังมีวิทยาลัยฝึกอาชีพระยะสั้นของรัฐอีก 1 แห่ง
(5) การศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขณะนี้มีการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยทักษิณที่ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน และตำบลบ้านพร้าว อำเภอ ป่าพะยอม เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของจังหวัดพัทลุง
2 ) การศึกษานอกโรงเรียน
(1) ปี พ.ศ. 2545 มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 145 ศูนย์ มีเด็กจำนวน 6,746 คน ผู้ดูแลเด็ก 297 คน
(2) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง มีโรงเรียนในสังกัดจำนวน 11 แห่ง มีนักเรียนจำนวน 14,745 คน
1.11.2 การสาธารณสุข
จังหวัดพัทลุงมีการบริการสาธารณสุขระดับต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งทางโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน สถานีอนามัย สถานบริการสาธารณสุขชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล ร้านขายยาแผนโบราน แผนปัจจุบัน คลินิกแพทย์ คลินิกทันตกรรม
1.11.3 การรักษาความความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จังหวัดพัทลุงมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงคือ ตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีหน่วยงานย่อยทั้งในระดับอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบล
1.11.4 การนับถือศาสนาและความเชื่อในจังหวัดพัทลุง
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นคือ จังหวัดพัทลุงมีประชากรจำนวน 402,709 คน ประชากร เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน แต่ศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดพัทลุงเคารพนับถือมากที่สุดคือ พระพุทธศาสนา มีผู้นับถือประมาณ 448,919 คน คิดเป็นร้อยละ 89.30 มีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 53,488 คน คิดเป็นร้อยละ 10.64 มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่นๆ ประมาณ 302 คน คิดเป็นร้อยละ 0.06
ประชากรในจังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะประชากรในชนบท ยังคงมีความเชื่อถือศรัทธา ต่อขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ได้แก่ การบวช งานศพ และงานประเพณีชักพระ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ (วันสารท) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ หนังตะลุง มโนราห์ เพลงบอก ลิเกป่า เป็นต้น
วัดในจังหวัดพัทลุงมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมีจำนวน 114 วัด และคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตอีก จำนวน 17 วัด ดังรายละเอียดตามตารางข้างล่าง ดังนี้

ตารางที่ 5 แสดงจำนวนวัดทั้งหมดในจังหวัดพัทลุง

อำเภอ วัดฝ่ายมหานิกาย วัดฝ่ายธรรมยุต
เมือง 61 4
กงหรา 8 -
ควนขนุน 42 1
เขาชัยสน 26 5
ป่าบอน 13 -
บางแก้ว 10 3
ปากพะยูน 26 4
กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ 8 -
ตะโหมด 6 -
ตะโหมด 6 -
ศรีบรรพต 8 -
ป่าพะยอม 6 -
รวม 114 17

ที่มา : สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง (ธรรมยุต) มิถุนายน 2545