2 พฤศจิกายน 2550

โครงการ จัดตั้งหน่วยงาน “วิทยาลัยท้องถิ่น (Local College)” สำหรับการจัดการความรู้

โครงการ จัดตั้งหน่วยงาน “วิทยาลัยท้องถิ่น (Local College)” สำหรับการจัดการความรู้

1. ชื่อโครงการ จัดตั้งหน่วยงาน “วิทยาลัยท้องถิ่น” สำหรับการจัดการความรู้

2. วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (เข็มมุ่ง)
มุ่งสู่การประยุกต์ใช้วิชาการเพื่อการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น

3. เป้าหมายเชิงกลยุทธ์
ส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิชาการของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

4. ดัชนีคุณภาพของโครงการ
เป็นศูนย์รวมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ อันจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้ที่จะยังประโยชน์แก่สังคม ชุมชน ท้องถิ่น

5. ผู้รับผิดชอบโครงการ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการปกครองท้องถิ่น
อาจารย์ธัชชัย แก้ววารี จัดทำ Website สำหรับการเผยแพร่องค์ความรู้
อาจารย์กรวิทย์ เกาะกลาง ประชาสัมพันธ์, สรรหาบทความ องค์ความรู้ต่างๆ
อาจารย์สุริยันต์ สุวรรณราช บรรณาธิการ, ตรวจสอบบทความหรือองค์ความรู้ที่จะเผยแพร่

6. ผู้เข้าร่วม หรือ ผู้เกี่ยวข้อง อาจารย์ นักวิชาการ ชุมชน ท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป

7. ระยะเวลาดำเนินงาน เริ่ม เดือนตุลาคม 2550

8. สถานที่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

9. หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy – KBE) งานต่างๆ จำเป็นต้องใช้ความรู้มาสร้างผลผลิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น การจัดการความรู้เป็นคำกว้างๆ ที่มีความหมายครอบคลุมเทคนิค กลไกต่างๆ มากมาย เพื่อสนับสนุนให้การทำงานของแรงงานความรู้ (Knowledge Worker) มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กลไกดังกล่าวได้แก่ การรวบรวมความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ที่ต่างๆ มารวมไว้ที่เดียวกัน การสร้างบรรยากาศให้คนคิดค้น เรียนรู้ สร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้น การจัดระเบียบความรู้ในเอกสาร และทำสมุดหน้าเหลืองรวบรวมรายชื่อผู้มีความรู้ในด้านต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คือการสร้างช่องทาง และเงื่อนไขให้คนเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพื่อนำไปใช้พัฒนางานของตนให้สัมฤทธิ์ผล หรือเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
การถ่ายทอดความรู้ อันเป็นส่วนประกอบของการจัดการองค์ความรู้ ถูกประพฤติปฏิบัติกันมานานแล้ว ตัวอย่างรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ เช่น การอภิปรายของเพื่อนร่วมงานในระหว่างการปฏิบัติงาน, การอบรมพนักงานใหม่อย่างเป็นทางการ, ห้องสมุดขององค์กร, โปรแกรมการฝึกสอนทางอาชีพและการเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งรูปแบบการถ่ายทอดความรู้มีการพัฒนารูปแบบโดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่กระจายอย่างกว้างขวางในศตวรรษที่ 20 ก่อให้เกิดเทคโนโลยีฐานความรู้, ระบบผู้เชี่ยวชาญและคลังความรู้ ซึ่งทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้ง่ายมากขึ้น ซึ่งการใช้ฐานความรู้ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมฐานความรู้ในปัจจุบัน ในประเทศไทยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนหลายหน่วยงาน ได้ให้ความสำคัญและผลักดันกิจกรรมการจัดการความรู้ อาทิ สถาบันอิสระ ธุรกิจเอกชน สถานศึกษา หน่วยราชการ ลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตลาดความรู้ออนไลน์
ทั้งนี้หลักการดังกล่าว มีความสอดคล้องกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่มีปรัชญา คือ “สร้างสรรค์องค์ความรู้ มุ่งสู่ชุมชน บนพื้นฐานภูมิปัญญา เพื่อพัฒนาที่ยั่งยืน” และคณะมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นประชาคมแห่งการสร้างองค์ความรู้และองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นด้วยการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและเหมาะสม โดยกำหนดพันธกิจของคณะให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานความรู้
ดังนั้น หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการให้การศึกษาแก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง เห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) การแลกเปลี่ยนความรู้และการสนับสนุนต่างๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในชุมชนและท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่นโดยการจัดตั้งหน่วยงานขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยท้องถิ่น” หรือ “Local College” วิทยาลัยเพื่อการเรียนรู้ของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานกลางในการทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวโดยการจัดทำ Website ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการถ่ายทอด เผยแพร่ องค์ความรู้ต่างๆ จากคณาจารย์ นักวิชาการ บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน หรือประชาชนทั่วไป และจะกระทำอย่างต่อเนื่องโดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ดังว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เป็นเลิศทางภูมิปัญญา เป็นหลักในการพัฒนาท้องถิ่น”

10. วัตถุประสงค์
1. เป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยง ถ่ายทอดและเผยแพร่บทความ องค์ความรู้และข้อคิดเห็นต่างๆ ของอาจารย์ นักวิชาการ ท้องถิ่น ชุมชนและประชาชนทั่วไปในเชิงสร้างสรรค์
2. สร้างพื้นที่ในการรองรับองค์ความรู้ต่างๆ สำหรับท้องถิ่น ชุมชนและประชาชนทั่วไป
3. เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรึกษาหารือ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ในเชิงสร้างสรรค์

11. ลักษณะการปฏิบัติงาน
1. ประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนงานและมอบหมายงาน
2. เขียนโครงการ
3. เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติ
4. จัดโครงการ : รายละเอียดของการจัดโครงการ
- จัดตั้งหน่วยงาน “วิทยาลัยท้องถิ่น”
- เขียน Website
- ประชาสัมพันธ์เชิงรุก และต่อเนื่อง
- รับบทความ องค์ความรู้ต่างๆ จากอาจารย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป
- เผยแพร่
5. ประเมินโครงการ
(แผนการดำเนินงาน แสดงดัง Grantt Chart)
ตุลาคม 50 - ธันวาคม 50

12. ผลที่คาดว่าจะได้รับ (เป้าหมายเชิงคุณภาพ เป้าหมายเชิงปริมาณ)
1. มีบทความ องค์ความรู้ จากท้องถิ่นต่างๆ ได้รับการเผยแพร่
2. เกิดเครือข่ายทางด้านวิชาการระหว่างคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์กับประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ
3. นักวิชาการภาคประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
4. การเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ เป็นประโยชน์และท้องถิ่นสามารถพัฒนาเป็น “องค์กรเรียนรู้” อย่างแท้จริง

13. งบประมาณโครงการ รวมจำนวนทั้งสิ้น 40,000 บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน)
(รายละเอียด)
1. ค่าประชาสัมพันธ์ จำนวน 5,000 บาท
- ค่าป้ายชื่อหน่วยงาน
- ค่าเอกสาร
- ค่าไปรษณีย์
2. ค่าจ้างเขียน Website จำนวน 35,000 บาท
- ค่าออกแบบ
- ค่าพื้นที่
14. แหล่งเงินงบประมาณโครงการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

15. วิธีการประเมินผลโครงการ
- ประเมินโครงการโดยการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่ส่งบทความ งานเขียนและองค์ความรู้ต่างๆ ลงพื้นที่ Website และผู้รับบริการวิชาการทางด้าน Website ดังกล่าว
- ประเมินจำนวนบทความและองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับการเผยแพร่

16. กำหนดส่งรายงานการประเมินผลโครงการ ประมาณ วันที่ 28 ธันวาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น: